นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่คลิปกรณีวัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลงบนถนนพระราม 2 ทำให้รถได้รับความเสียหาย นั้น กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างสะพานได้ทำการตรวจสอบแล้ว ขอเรียนชี้แจงว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 18.00 น. ในพื้นที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ(ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ตอน 2 ที่ กม.17+500 (ขาเข้า กทม.) จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสาเหตุเกิดจากผู้รับจ้างได้เข้าไปเตรียมความพร้อมในการติดตั้งชิ้นส่วนสะพาน ระหว่างการดำเนินงาน ได้เกิดอุบัติเหตุชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็กสำหรับรับขา Launching truss ด้านหน้า ร่วงหล่นลงมาบนถนน ระหว่างนั้นมีรถกระบะสีดำทะเบียนชอ 3536 กรุงเทพมหานคร วิ่งมาในบริเวณดังกล่าวไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ทำให้รถเหยียบทับชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็ก และมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้รับความเสียหาย รวมจำนวน 3 คันมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จำนวน 3 คน
กรมทางหลวง ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุและดำเนินการเคลื่อนย้ายรถคันที่เสียหายออกจากบริเวณที่เกิดเหตุโดยทันที เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ เพื่อทำการรักษาและตรวจร่างกาย ซึ่งล่าสุดผลการตรวจร่างกายพบว่า มีรอยฟกช้ำตามร่างกายเล็กน้อย พร้อมทั้งให้ผู้รับจ้างดูแลผู้เสียหายและดำเนินการเจรจารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร ซึ่งผู้รับจ้างยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามที่ผู้เสียหายเรียกร้องและยินดีที่จะให้ผู้บาดเจ็บไปตรวจร่างกายอีกครั้งหนึ่ง
กรมทางหลวง ขออภัยในความไม่สะดวกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอเรียนว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้เน้นย้ำเรื่องมาตรการความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างอย่างสูงสุดมาโดยตลอด เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยขณะนี้ได้สั่งให้โครงการหยุดงานก่อสร้างบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอย่างละเอียดและพิจารณามาตรการเสริมความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ
สำหรับโครงการร่วมลงทุน O&M มอเตอร์เวย์เวย์ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงินลงทุนรวมตลอดสัญญากว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อการก่อสร้างงานระบบ พร้อมทั้งการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) เป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐในการก่อสร้างและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ โดยมีรูปแบบงานระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม่กั้น หรือ M-Flow รวมถึงให้เอกชนดำเนินงานระบบอำนวยการและบริหารจัดการจราจร ตลอดจนดูแล บำรุงรักษา บูรณะ และบริหารจัดการตลอดระยะเวลา 32 ปี (นับตั้งแต่เริ่มลงมือก่อสร้างงานระบบ) โครงการ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและผลประโยชน์ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจทางอ้อม มูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท ส่งเสริมการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยให้มีศักยภาพสูงสุด
ด้าน ดร.ธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กล่าวต่อว่า ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน (19 ส.ค. 65) ยังมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนและนักลงทุน (Market Sounding) เพื่อการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนโครงการ ในรูปแบบการประชุมทางไกลโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 160 คน ประกอบด้วย สถาบันการเงิน ที่ปรึกษาการร่วมลงทุน ผู้แทนจากกลุ่มผู้รับเหมา หน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ภาคเอกชน รวมถึงหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย เข้าร่วม สำหรับโครงการ การให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ ปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ได้เคยเห็นชอบในหลักการของโครงการ โดยอนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ ในรูปแบบทางหลวงสัมปทาน ด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งการทบทวนผลการศึกษาได้เสนอให้ดำเนินการปรับปรุงรูปแบบโครงการในส่วนต่าง ๆ เพื่อลดค่าลงทุนโครงการ รวมถึงผลกระทบต่อประชาชน เช่น การปรับรูปแบบโครงการจากถนนระดับดินบนเข็มเป็นรูปแบบสะพานบก ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางด้านการเวนคืนที่ดินของประชาชน ลดค่าก่อสร้าง การนำระบบ M-Flow มาใช้กับโครงการแทนการจ่ายเงินที่พนักงาน และลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณด่านจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ให้ผู้ใช้ทาง เป็นต้น ซึ่งสามารถลดมูลค่าก่อสร้างได้กว่า 3,200 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 4.3% เมื่อเทียบกับการศึกษาครั้งที่ผ่านมา รวมถึงมีแนวคิดที่จะทำการก่อสร้างเป็นช่วง เพื่อให้โครงการสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการในการเดินทางและขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในการประชุมยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานแสดงความคิดเห็นและหาแนวทางในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุนโครงการ รวมถึงข้อมูลด้านการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาประกอบใช้ในการดำเนินโครงการให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพสูงสุด
Photo & Content Credit /กรมทางหลวง